เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ณ คลับเฮาส์ สนามริเวอร์เดล กอล์ฟคลับ จ.ปทุมธานี นายรังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์ นายกสมาคมกีฬากอล์ฟแห่งประเทศไทยฯ เป็นประธานแถลงข่าวการจัดการแข่งขันกอล์ฟอาชีพรายการใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย “ไทยแลนด์ โอเพ่น ครั้งที่ 51” ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมเงินรางวัลรวม 5 ล้านบาท ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 7-10 ธันวาคม 2566 ณ สนามริเวอร์เดล กอล์ฟ คลับ สนามระดับแชมเปียนชิพคอร์ส จังหวัดปทุมธานี
นายรังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์ นายกสมาคมกีฬากอล์ฟแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงการจัดการแข่งขันรายการ “ไทยแลนด์ โอเพ่น” ซึ่งครั้งนี้จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 51 ว่า “การแข่งขันไทยแลนด์ โอเพ่น ถือเป็นการแข่งขันกอล์ฟอาชีพรายการสำคัญของไทยและจัดต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ในแต่ละประเทศแมทช์โอเพ่นถือเป็นเมกะแมทช์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาวงการกอล์ฟของตน แต่ละประเทศเจ้าภาพจะพยายามดึงนักกอล์ฟระดับโลกเข้ามาร่วมแข่งขัน เพราะนอกจากจะเป็นการพัฒนาวงการกอล์ฟในประเทศตนแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอีกด้วย จึงมีความพยายามสร้างการแข่งขันที่มีมาตรฐานและมีเงินรางวัลสูงเพื่อดึงดูดนักกอล์ฟแถวหน้าของโลก
สำหรับประเทศไทยเองการแข่งขันไทยแลนด์ โอเพ่นเป็นการแข่งขันที่มีมาอย่างยาวนาน ชิงถ้วยพระราชทาน จากรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของนักกอล์ฟไทยทุกคน ด้วยความยิ่งใหญ่และประวัติศาสตร์อันยาวนานเช่นนี้ จึงทำให้กอล์ฟไทยแลนด์ โอเพ่นได้รับความสนใจจากนักกอล์ฟทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าร่วมแข่งขัน ประกอบกับปัจจุบันมีนักกอล์ฟไทยจำนวนมากที่มีความสามารถ แข่งขันในต่างประเทศมากมาย มีสนามกอล์ฟที่สวยงามมากมาย ถ้าได้รับการสนับสนุนให้เป็นแมทช์ที่มีเงินรางวัลเทียบเคียงประเทศเพื่อนบ้าน น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการสานต่อประโยชน์จากการแข่งขันสู่การพัฒนาวงการกอล์ฟไทยและการท่องเที่ยว
นายเกษมสุข จงมั่นคง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจกอล์ฟ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “สนามริเวอร์เดล กอล์ฟ คลับ เป็นสนามระดับแชมเปี้ยนชิพ คอร์ส อยู่ในสภาพพร้อมเต็มที่ตั้งแต่ทีออฟ แฟร์เวย์ ไปจนถึงกรีน ซึ่งปีนี้ปรับให้เป็นพาร์ 71 เพื่อความท้าทายมากขึ้น เชื่อว่านักกอล์ฟจะได้สัมผัสความสนุก ความท้าทายที่น่าตื่นเต้นของสนามอย่างแน่นอน เลย์เอาท์ของสนามถูกออกแบบมาให้มีลูกเนินเลียนแบบหุบเขาทำให้มีความท้าทายในทุกหลุม และได้ปรับระยะเป็นพาร์ 71 ปรับปรุงเลย์เอาท์บางหลุมให้ท้าทายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ หลุม 6 พาร์ 5 ระยะ 623 หลา ซึ่งยากและไกลที่สุด และมีบังเกอร์ดักระยะซ้าย-ขวา ทำให้แฟร์เวย์แคบลง และหลุม 18 พาร์ 5 ระยะ 560 หลา ถือเป็นอีกหลุมที่ยาก มีอุปสรรคน้ำทางซ้าย และโดดเด่นด้วยบังเกอร์ขนาดใหญ่ด้านขวา และบังเกอร์หน้ากรีน”
ขณะที่ “โปรแม็ก” ขวัญชัย แท่นนิล ที่จะลงป้องกันแชมป์ กล่าวว่า “สิ่งแรกที่นึกถึงคือรายการนี้เป็นการแข่งขันกอล์ฟที่ยิ่งใหญ่ของเมืองไทยอีกหนึ่งรายการ และที่สำคัญคือถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่นักกอล์ฟไทยทุกคนอยากครอบครอง เพราะเป็นความภาคภูมิใจที่ได้ถือถ้วยรายการนี้สักครั้งหนึ่งในชีวิต ความมุ่งมั่นคือครั้งนี้ผมฝึกซ้อมหนักขึ้น พยายามแก้ไขจุดอ่อนของตัวเอง ในมุมของตัวผมเองน่าจะเป็นลูกไดรฟ์ที่จะต้องซ้อมให้บ่อยขึ้น เพราะอย่างปีที่แล้วที่ชนะเพราะผมไดรฟ์ดีเลยให้คะแนนออกมาดีครับ อยากจะคว้าแชมป์อีกครั้ง เพื่อความภูมิใจของตัวเองและครอบครัว”
ทั้งนี้ นับเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่การแข่งขันไทยแลนด์ โอเพ่น จะอยู่ในปฏิทินการแข่งขันของออลไทยแลนด์กอล์ฟทัวร์ โดยครั้งนี้มีความพิเศษเพราะจะเป็นรายการสุดท้ายของฤดูกาล 2023 ซึ่งจะตัดสินตำแหน่งนักกอล์ฟทำเงินสูงสุด, นักกอล์ฟดาวรุ่งยอดเยี่ยม และนักกอล์ฟที่จะรักษาทัวร์การ์ดสำหรับฤดูกาล 2024
สำหรับนักกอล์ฟที่จะเข้าร่วมแข่งขันครั้งนี้มีจำนวน 144 คน แข่ง 72 หลุม โดยตัดตัวที่ท็อป 60 และเสมอหลังจบ 36 หลุม โดยในจำนวนนักกอล์ฟที่ยืนยันเข้าร่วมแข่งขันก็รวมถึง 4 แชมป์เก่า ได้แก่ ขวัญชัย แท่นนิล (2565), จอห์น คัทลิน (2562), ภาณุพล พิทยารัฐ (2561) และ รฐนน วรรณศรีจันทร์ (2560) นอกจากนั้น ยังมี ฉ่างไท้ สุดโสม ผู้นำในอันดับเงินรางวัลสะสมออลไทยแลนด์ฯ 2023 ที่กำลังลุ้นตำแหน่งนักกอล์ฟมือหนึ่งของทัวร์, ธนภัทร พิชัยกุล แชมป์สิงห์ ไทยแลนด์ มาสเตอร์ส เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว, สุทธินนท์ ปัญโญ, วรุณ เอี่ยมแก้ว, ภัทรพล ขันทะชา, โคสุเก ฮามาโมโต้, ภูสิทธิ์ ทรัพย์อัประไมย, วรัญญู รัตนไพบูลย์กิจ, และ อติรุจ วินัยเจริญชัย
การแข่งขันกอล์ฟรายการ “ไทยแลนด์ โอเพ่น” นับเป็นการแข่งขันกอล์ฟอาชีพรายการใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย เริ่มต้นจัดการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 2508 โดยในการแข่งขันครั้งล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ขวัญชัย แท่นนิล ออกนำตั้งแต่รอบแรกจนคว้าแชมป์ไปครองที่สกอร์รวม 23 อันเดอร์ และกลายเป็นนักกอล์ฟไทยคนที่ 7 ที่ได้แชมป์ในรายการนี้ต่อจาก สุเทพ มีสวัสดิ์ (2534), บุญชู เรืองกิจ (2535 และ 2547), ประหยัด มากแสง (2556), รฐนน วรรณศรีจันทร์ (2560), ภาณุพล พิทยารัฐ (2561) และสดมภ์ แก้วกาญจนา (2564)